โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยเมืองงาม

ความเป็นมา/พระราชดำริ

เมื่อวันที่  12  มกราคม  2547  สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ  เสด็จฯ ทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณต้นน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านลีซอหัวน้ำ  ณ  จุดความสูง  980  เมตร  อยู่ระหว่างหมู่บ้านหัวเมืองงาม  หมู่  11 และหมู่บ้านห้วยส้าน (เลาต๋า) หมู่ 10 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่  เนื่องจากได้รับการถวายรายงานข้อมูลจากฝ่ายโครงการพิเศษ  –  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่  16  กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการบุกรุกแผ้วถาง  เพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกไม้ผลบนพื้นที่สูง  ถ้าไม่มีการบริหารจัดการดิน  น้ำ  ป่าไม้  ที่ถูกต้องและเหมาะสม  พื้นที่ป่าบริเวณนี้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำห้วยเมืองงามอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝาง  ก็จะถูกบุกรุกและโดนทำลายจนนำไปสู่ความแห้งแล้งในฤดูแล้ง  และเกิดการพังทลายของหน้าดินในฤดูฝนอย่างรุนแรงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในลุ่มน้ำห้วยเมืองงามในอนาคต
พระราชดำริ
ทรงมีพระราชดำริที่สำคัญดังนี้
1. โปรดเกล้าให้ตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม
2. ให้ฟื้นฟูสภาพป่าที่โดนทำลาย โดยการปลูกป่าและให้ผู้แทนของ 4 หมู่บ้านที่อยู่รอบพื้นที่ตั้ง สถานีฯ เข้าเฝ้า

ที่ตั้งโครงการและข้อมูลพื้นฐาน

หมู่  10    ตำบลท่าตอน  อำเภอแม่อาย  จังหวัดเชียงใหม่  
แผ่นที่

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.  จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง เพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ โดยใช้พื้นที่อย่างจำกัด แต่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พอเลี้ยงตนเองได้
2.  ยับยั้งการบุกรุกทำลายป่า ทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝางซึ่งมีห้วยเมืองงามเป็นลำห้วยหลักที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนบริเวณนี้มาช้านาน ไหลลงสู่แม่น้ำกก ให้พื้นที่ต้นน้ำที่โดนบุกรุกบริเวณนี้กลับคืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม
3.  สร้างงานให้ราษฎรในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น
4.  สร้างชุมชนทั้ง  6  หมู่บ้าน  ให้มีความเข็มแข็ง  เพื่อต้านปัญหายาเสพติดและสกัดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่จะลำเลียงมาจากชายแดนพม่าซึงมีอาณาเขตห่างจากที่ตั้งสถานีแค่  1.5  กิโลเมตร  ผ่านไปยังจังหวัดเชียงใหม่  และเข้าไปแพร่กระจายในเมืองใหญ่ในที่สุด
5.  พัฒนาสถานีเกษตรที่สูง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และระบบนิเวศ

เป้าหมายโครงการ

1. จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยขอใช้พื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางประมาณ 460 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการฯ
2. จัดสร้างฝายทดน้ำแบบประปาภูเขา และทำบ่อพักน้ำ เพื่อนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการฯให้ได้อย่างต่อเนื่อง
3. ทำการฝึกอบรมราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า บ้านห้วยเต่า บ้านฮ้าฮก บ้านละหลา บ้านลีซอหัวน้ำเก่า อำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ ปีละ 2 รุ่น รุ่นละ 100 คน โดยทำเป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า บริเวณต้นน้ำห้วยเมืองงาม ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝาง
4. ทำการปลูกป่าเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยใช้พื้นที่ที่เหลือจากการจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ดังเดิม
5. จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้ราษฎรรวมกลุ่มในการบริหารจัดการ วางแผนการผลิตและการตลาด การแปรรูปผลผลิตให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นและเกิดการรวมกลุ่มกันจำหน่ายผลผลิตเพื่อไม่ให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอย่างไม่เป็นธรรม
6. ทำการจ้างงานในชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของราษฎรให้ดีขึ้น โดยตั้งเป้าหมายของการพัฒนาปีแรก ให้ราษฎรทุกครัวเรือนในพื้นที่มีรายได้สูงกว่าระดับความยากจนที่ทางการกำหนดไว้
7. ส่งเสริมให้ราษฎรมีทักษะ เกิดการเรียนรู่ในด้านการผลิตอย่างถูกวิธี สามารถมีพัฒนาการนำไปสู่การมีกินมีอยู่อย่างพอเพียงได้

งบประมาณ

งานปกติ          จำนวน      2,827,000.-     บาท

แผนการดำเนินงาน

1.   แผนงานบริหารโครงการ
1.1  งานอำนวยการและบริหารโครงการ                      1              งาน
1.2 งานสนับสนุนชุมชนมีส่วนรวมในการป้องกัน            1              งาน
และดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้         
2.  แผนงานพัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่า
2.1 ปลูกป่าทั่วไป                                    100         ไร่
2.2 ปลูกป่าสร้างป่าหวาย                          250         ไร่
2.3 ปลูกป่าไม้ใช้สอย                               50          ไร่
2.4 ปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำ                     300         ไร่
2.5 บำรุงรักษาสวนเดิม 2 – 6 ปี                 500         ไร่
2.6 บำรุงป่าไม้ใช้สอย                             450         ไร่
2.7 บำรุงสวนป่าหวายปีที่ 2 – 6                  200         ไร่
2.8 เพาะชำกล้าไม้มีค่า                        10,000        กล้า
2.9  แนวกันไฟ                                      10           กม.
2.10  ฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร                      2           แห่ง
2.11  ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน                 10          แห่ง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ราษฎรช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
2. ราษฎรไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

ผลการดำเนินงานรอบปี 

     จากผลการปฏิบัติงาน  พื้นที่ในป่าในสถานีฯ มีความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มจำนวนขึ้นจากเดิม ปริมาณน้ำตามลำห้วยต่าง ๆ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่มีมากขึ้น   ซึ่งจะสังเกตได้จากการพบเห็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่าบ่อยครั้งขึ้น เช่น เก้ง ไก่ป่า และนกนานาชนิด
     เรื่องยาเสพติดในหมู่บ้านเป้าหมายได้ลดจำนวนเดิม เพราะทางสถานีฯ ได้จัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด เช่น จัดการแข่งขันกีฬาของราษฎรในหมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน และให้รู้ถึงโทษของยาเสพติด
     การบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่ของสถานีฯ  ไม่ปรากฏแต่อย่างใด เพราะทางสถานีฯ ได้จัดฝึกอบรมให้กับเยาวชนและราษฎรในพื้นที่ให้มีความเข้าใจถึงผลเสียของการทำลายป่า มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และกลับมามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ให้ยั่งยืนต่อไป เพิ่มเติม

ปัญหาและอุปสรรค

1. ปัญหาเรื่องการคมนาคม
2. การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับราษฎร

หน่วยงานหลัก/ผู้ประสานงาน

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16
นายราชันย์ บัวตรี ตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 โทรศัพท์ 081-950-8789 , 081-950-8788

ส่วนราชการร่วมโครงการฯ

1.   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่) สังกัดกรมวิชาการเกษตร
2.    กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 กรมทหารราบที่ 4 สังกัดกองทัพภาคที่ 3
3. สถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6  สังกัดกรมพัฒนาที่ดิน
4. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดเชียงใหม่  สังกัดกรมประมง
5. องค์บริหารส่วนตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
6. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่  สังกัดกรมปศุสัตว์
7. ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน จังหวัดเชียงราย  สังกัดสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
8. ศูนย์ส่งเสริมการเกษตร  พื้นที่ภาคเหนือ  สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร
9. อำเภอแม่อาย สังกัดกรมการปกครอง
10. สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 จังหวัดลำปาง สังกัดกรมทรัพยากรน้ำ
11. หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32