ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน เป็นศูนย์การเรียนรู้สู่การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร ดังนี้
1.1 ชุมชนเผ่าอาข่า 98 ครอบครัว 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านอาแย บ้านอาบอลาชา และบ้านอาบอเน ได้เข้าทำงานในสถานีฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 3,500 - 5,000 บาท เป็น 28,000 - 45,000 บาท/ครอบครัว/ปี ซึ่งสูงกว่าเส้นระดับความยากจนตามที่ทางราชการกำหนด ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
1.2 เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ จากการที่ราษฎรในชุมชนได้เข้ามาทำงานในสถานีฯ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างชุมชนกับสถานีฯ ในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นระบบการผลิตตั้งแต่การคัดเลือกพันธ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น มีความต้านทานโรคและแมลง มีการอารักขาป้องกันความเสียหายจากการระบาดจากศัตรูพืชด้วยชีววิธี (biological control) ซึ่งเป็นการลดการใช้สารเคมีผสมผสานกับการปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชคลุมดิน การทำการเกษตรอินทรีย์ด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ในการบำรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ราษฎรเกิดทักษะความชำนาญนำกลับไปใช้ในไร่นาของตนเอง
2. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า บริเวณดอยม่อนล้าน จากการที่ชุมชนได้เรียนรู้ การทำการเกษตรที่มิตรกับธรรมชาติ เกิดประสบการณ์ใหม่ที่ส่งผลให้มีความตระหนัก ความเสื่อมของทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า สัตว์ป่า ได้ร่วมกันคืนพื้นที่ที่เคยใช้ในการทำไร่หมุนเวียนบริเวณดอยม่อนล้านที่มีความสูงตั้งแต่ 1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล จำนวน 2,000 ไร่ ให้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และการตั้งกฎกติกากันในชุมชน ที่จะร่วมกันดูแลไม่ให้มีการลักลอบบุกรุกทำลายและละเว้นการล่าสัตว์ในบริเวณที่กำหนด เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งหลบภัยและแพร่ขยายพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป
3. ดอยม่อนล้าน มีภูมิประเทศที่สวยงามในฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส สามารถมองเห็นทะเลหมอกในตอนเช้า จุดชมทัศนียภาพสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น และตก ที่ไม่เหมือนใคร มองเห็นวิวอำเภอพร้าวได้ทั้งอำเภอและในเวลาค่ำคืน ยังได้ชมดาวบนดินที่ม่อนล้าน ที่สวยสดงดงาม อีกทั้งชนเผ่าอาข่าที่มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามที่รอการเยี่ยมชม มีความพร้อมที่ รอการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่นำรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน ด้วยการจัดการการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนบนท้องถิ่น