ความเป็นมา

            ในปี พ.ศ. 2536 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โครงการเกษตรหลวงดอยอ่างขาง ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างเสด็จกลับจากพระราชกรณียกิจ โดย helicopter พระที่นั่ง  ได้ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศ สภาพป่าไม้บริเวณเส้นทางบิน จากดอยอ่างขาง  บ้านถ้ำงอบ บ้านสินชัย เขตอำเภอ  ไชยปราการติดต่ออำเภอเชียงดาว ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างหลายแห่ง จึงมีพระราชดำริฯ ให้กองทัพภาคที่ 3 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการแก้ไขปัญหา ซึ่งกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหนึ่งในพื้นที่ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ กิจกรรมด้านป่าไม้ ซึ่งในขณะนั้นมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 40,000 ไร่ หรือประมาณ 64 ตารางกิโลเมตร  

               ปี พ.ศ. 2537 ราษฎรลีซอที่อพยพมาจากบ้านลีซอหลังเมือง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ได้มาอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ณ บ้านแข่ลีซอ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ประสบกับปัญหา     ขาดแคลนแหล่งน้ำและพื้นที่ดินทำกิน ทำให้ไม่สามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของราษฎรได้ตามเป้าหมายที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ ซึ่งในขณะนั้นการดำเนินงานของโครงการฯ  ในกิจกรรมเกี่ยวกับป่าไม้  อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสูน ตำบลหนองบัว  อำเภอไชยปราการ  และให้ชื่อโครงการว่า  “โครงการฟื้นฟูสภาพพื้นที่อำเภอไชยปราการ  จังหวัดเชียงใหม่”

                ปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กองทัพภาคที่ 3  กรมป่าไม้  กรมชลประทาน  กรมพัฒนาที่ดิน  สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท  จังหวัดเชียงใหม่  หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32  ฯลฯ  ร่วมกันพิจารณาจัดหาพื้นที่  ทำกินและที่อยู่อาศัยพื้นที่ใหม่ให้แก่ราษฎรลีซอกลุ่มนี้  โดยให้มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเกษตร  และการอุปโภค – บริโภค  สำหรับพื้นที่เดิมที่เป็นรอยต่อระหว่างอำเภอไชยปราการและอำเภอเชียงดาวให้ดำเนินการปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป

                ในการรับเสด็จ ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน 2538 ณ บ้านห้วยจะค่าน  ตำบลปิงโค้ง  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่  นั้น  แม่ทัพภาค  3  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  อธิบดีกรมป่าไม้  ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ (นายสวัสดิ์  ดุลยพัชร)  และข้าราชการ ได้พร้อมใจกันรับเสด็จ  อธิบดีกรมป่าไม้ (นายยรรยง  ถนอมพิชัย) ได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน  ดังนี้

  1. พื้นที่อยู่อาศัยที่จัดเตรียมขึ้นใหม่บ้านห้วยค่านประมาณ  50  ไร่  พื้นที่ทำกินประมาณ  350  ไร่
  2. พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ  65  ไร่
  3. พื้นที่ป่าโครงการฯ ประมาณ  20,000  ไร่  โดยมีกิจกรรมรองรับในส่วนของกรมป่าไม้  อันได้แก่  งานป้องกันการบุกรุกทำลายป่าโดยชุมชนในพื้นที่ งานฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม
  4. จะสนับสนุนผู้อพยพ ให้มีรายได้จากกิจกรรมของป่าไม้
  5. จะสร้างจิตสำนึกของผู้อพยพและราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง  ให้มีส่วนร่วมในการดูแลและรักษาป่า และอยู่ร่วมกับป่า อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

                ในระหว่างวันที่  21 – 28  พฤศจิกายน  2538  ได้ขนย้ายราษฎรทั้งหมดจากบ้านแข่ลีซอ  ตำบลหนองบัว  อำเภอไชยปราการ  มาอยู่ในพื้นที่โครงการฯ แห่งใหม่ ณ บ้านห้วยจะค่าน  ตำบลปิงโค้ง  อำเภอเชียงดาว  ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอไชยปราการและพื้นที่ข้างเคียง  พื้นที่ที่ 2  (ห้วยจะค่าน)  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่”  ซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติงาน  263,750  ไร่ หรือประมาณ  422  ตารางกิโลเมตร  ครอบคลุมพื้นที่หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจะค่าน  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่

                ในพื้นที่โครงการฯ แห่งใหม่ บ้านห้วยจะค่าน  ตำบลปิงโค้ง  อำเภอเชียงดาว นอกจากจะจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ราษฎรลีซอกลุ่มนี้  40  ครอบครัวๆ ละ  5  ไร่  2  งาน  โดยพื้นที่  5 ไร่เป็นพื้นที่ดินทำกินและ 2 งาน  เป็นพื้นที่อยู่อาศัย  โครงการฯ ยังสร้างที่อยู่อาศัยให้  40  หลัง  พร้อมสาธารณูปโภค  เช่น  ถนน  อ่างเก็บน้ำ  เจาะบาดาล  อีกทั้งยังส่งเสริมด้านการเกษตร  การทอผ้า  การปักผ้า  ช่างตีเครื่องเงิน  ช่างแกะสลัก  และอื่นๆ อีกหลายประเภท  ปัจจุบันโครงการฯ ได้สังกัดกลุ่มประสานงานโครงการพระราชดำริ  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16  กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม