นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดตัวโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เชียงใหม่

วันที่บันทึก :15/02/2013

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดตัวโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเครือข่ายจากชุมชนในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมงานจำนวนมาก วันที่ 14 ก.พ.56 เวลา 11.30 น.ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดตัวโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในเขตลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ” และกิจกรรม “คำมั่นสัญญาใต้ฟ้าเดียวกัน” เพื่อให้ชุมชนต้นแบบฯ ที่เข้าร่วมโครงการ ปฏิญาณตนร่วมกันในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ ป่า และอากาศ ) โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเพื่อบูรณาการการมีส่วนร่วมจากภาคราชการในการสนับสนุนโครงการ โดยมี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกอย่างต่อเนื่อง มาโดยตลอด ก่อให้เกิดผลกระทบและเกิดปัญหาภัยธรรมชาติตามมาในหลายพื้นที่ ทั้งปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งและหมอกควัน ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญด้วยการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนการแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการ “80 วันของการเฝ้าระวังปัญหาหมอกควันไฟป่า” ในระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2556 ถึง 10 เมษายน 2556 ซึ่งต่อมาได้ขยายเวลาเป็น 100 วัน โดยได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเฝ้าระวังตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้นำมาตรการดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง ซึ่งปรากฏผลบางส่วนแล้วตามรายงานของ นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโดยยึดประชาชนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาให้เกิดความสมดุล ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบฯ ในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลให้ประสบผลสำเร็จอย่างกว้างขวางและเพื่อช่วยให้พื้นที่ลุ่มน้ำหลักมีสภาพแวดล้อมที่ดี อันจะส่งผลที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการ “บูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนต้นแบบฯ ในเขตลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ” ขึ้น โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน โดยร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินการบูรณาการโครงการด้านสิ่งแวดล้อม 3 โครงการ ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ และโครงการเกษตรปลอดการเผา ให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ในการดูแลและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การสร้างฝายชะลอน้ำ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกเพื่อลดการเผาเศษซากวัสดุการเกษตร ขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการสนับสนุนให้เกิดกลุ่มกิจกรรมดังกล่าวขึ้น สำหรับกิจกรรม “คำมั่นสัญญาใต้ฟ้าเดียวกัน” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ผู้นำชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 2,500 คน มารวมตัวกันเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ตามมาตรการ “100 วันของการเฝ้าระวังปัญหาหมอกควันไฟป่า” ของรัฐบาล โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กับผู้นำชุมชนว่า การดำเนิน โครงการ “บูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในเขตลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ” และกิจกรรม “คำมั่นสัญญาใต้ฟ้าเดียวกัน" เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเป็นการบูรณาการจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย อย่างไรก็ตามจากการที่มนุษย์ได้ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ทั้งการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ ลำธารและการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าไปแล้วไม่มีการปลูกทดแทน ทำให้เราประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก โดยถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศในการที่จะก้าวต่อไปในการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืนและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งการติดตามการตัดไม้ทำลายป่า และการเผา ส่วนที่ ธ.ก.ส. และประชาชนในชุมชนได้นำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการจัดทำฝายชะลอน้ำ และโครงการเกษตรปลอดการเผา มาบูรณาการงานร่วมกันนั้น ถือเป็นการบูรณาการอย่างสมบูรณ์แท้จริง ส่วนกิจกรรม “คำมั่นสัญญาใต้ฟ้าเดียวกัน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันเฝ้าระวังปัญหาหมอกควันไฟป่าอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นการสนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัดของรัฐบาล ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าหากชุมชนมีความเข้มแข็ง การดำเนินการ 100 วันของการเฝ้าระวังอันตรายจากปัญหาหมอกควันไฟป่าก็จะสัมฤทธิ์ผลตามที่มุ่งหวังไว้