ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมชิมเมนูอาหารประจำจังหวัดเชียงใหม่ ตำจิ๊นแห้ง เพื่อร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมอาหารพื้นเมืองให้เป็น Soft power ดึงดูดด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่
วันที่บันทึก :12/09/2023
วันที่ 11 ก.ย.66 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมชิมเมนูอาหารประจำจังหวัดเชียงใหม่ ตำจิ๊นแห้ง ณ ร้านอาหารเพชรดอยงาม ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการประกาศฯ รสชาติที่หายไป The Lost Taste เพื่อร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมอาหารพื้นเมืองให้เป็น soft power ของเชียงใหม่ โดยที่ได้มีการสาธิตทำตำจิ๊นแห้ง โดยมีสื่อมวลชนและอินฟูเอนเซอร์ในเชียงใหม่ ร่วมลองชิมตำจิ๊นแห้ง ซึ่งเป็นเมนูอาหารประจำจังหวัดเชียงใหม่
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการนี้เพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นบ้านอยู่คู่กับอาหารไทยและอยู่คู่บ้านคู่เมืองของคนไทย โดยประสานงานกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัดและเครือข่ายทางวัฒนธรรม รวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก เพื่อยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ เป็นอาหารประจำจังหวัดและจัดทำเป็นสำรับอาหารประจำภาค ทั้ง 4 ภาค ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารถิ่น ทั้งคาวและหวาน ซึ่งมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ สมุนไพร ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับและประวัติความเป็นมาอีกทั้งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหาร
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมประกาศรายชื่อเมนูอาหารทั้ง 77 รายการนี้ เมนูรสชาติที่หายไป ของจังหวัดเชียงใหม่ คือ ตำจิ๊นแห้ง ซึ่งคนในพื้นที่เอง และเยาวชนอาจจะไม่รู้จักหรือไม่เคยพบเห็นหรือสัมผัสมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์เมนูพื้นบ้าน ให้เป็นที่รู้จัก และส่งเสริมให้อาหารพื้นเมืองเมนูอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว เช่น ลาบเมือง แกงแค น้ำพริกอ่อง เป็นต้น ให้เป็น Soft power ดึงดูดด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้เชิญชวน อินฟูเอนเซอร์ในเชียงใหม่ และสื่อมวลชน มาลิ้มลองรสชาติอาหารพื้นเมือง และ ตำจิ๊นแห้ง เมนูที่กำลังจะหายไป ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก และเกิดกระแสบริโภคอาหารท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ตลอดจนถึงการเตรียมความพร้อมก่อนจะถึงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงนี้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือการค้นหาเมนู รสชาติที่หายไป ซึ่งเราอยากฟื้นกลับมาและเมื่อคัดเลือกมาแล้ว ถือเป็นการปลุกกระแสทำให้คนในท้องถิ่นได้หันมาสนใจ และส่งผลดีต่อการสร้างความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดนั้นๆ และยังจะสามารถพัฒนาสู่การพิจารณายกย่องเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารในอนาคตด้วย