พี่น้องชาติพันธุ์อาข่า จัดกิจกรรม “สีสันอัตลักษณ์ประเพณีวิถีชาติพันธุ์ โล้ชิงช้า - แย้ขู่อ่าเผ่ว” เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
วันที่บันทึก :29/08/2023
วันที่ 26 ส.ค. 66 ที่ พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง บริเวณพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน “สีสันอัตลักษณ์ประเพณีวิถีชาติพันธุ์ โล้ชิงช้า - แย้ขู่อ่าเผ่ว” ของ พี่ น้องชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูงกับเครือข่ายอาข่าเพื่อสันติภาพลุ่มน้ำโขง และภาคีเครือข่าย เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจของพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น สร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยว เสริมสร้างรายได้ และส่งเสริมสวัสดิการ ให้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว ศิลปินชาติพันธุ์ และบริการทางวัฒนธรรมมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความสมัครสมานสามัคคี ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีนายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า เข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับประเพณีโล้ชิงช้า เป็นงานเทศกาลของชาวอ่าข่า จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดา “อึ่มซาแยะ” ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ให้มีความเจริญงอกงาม และถือเป็นการให้เกียรติสตรี ซึ่งหญิงสาวชาวอ่าข่า จะใช้เวลาทั้งปีเตรียมชุดเพื่อใส่ในเทศกาลนี้โดยเฉพาะ นับเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชน ผู้ชายทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างชิงช้า ซึ่งจะนิยมจัดงานประเพณีโล้ชิงช้าช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การสาธิตการโล้ชิงช้าจากพี่น้องอ่าข่า กิจกรรมการแสดงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาติพันธุ์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือที่มีคุณภาพจากพี่น้องราษฎรบนพื้นที่สูง รวมถึงชิมการอาหารชนเผ่านานา ทั้งชารสดี ข้าวปุกรสเลิศ
โดย นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผมรู้สึกชื่นชมที่ได้เห็นความผูกพันของพี่น้องชาวอ่าข่าและผู้เข้าร่วมงาน ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยใช้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ สร้างการมีส่วนร่วมในการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ และยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายชาติพันธุ์ที่ต่างให้ความสำคัญในการส่งเสริมและ สนับสนุน การฟื้นฟูอัตลักษณ์ และวิถีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ มุ่งหวังที่จะสืบทอดวัฒนธรรมและ ภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ให้มีการเผยแพร่ สืบสาน ต่อยอด เกิดคุณค่าทางสังคมและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อไป