จังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำและทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ และแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2568 สู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เพื่อก้าวสู่นครแห่งชีวิตทีมั่งคั่งและยั่งยืน
วันที่บันทึก :26/08/2023
วันที่ 24 ส.ค. 66 ณ ห้องประชุม NSP Exhibition Hall อาคาร B ชั้น 1 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำและทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ และแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2568 สู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เมืองแห่งโอกาส เป็นธรรม และเมืองที่เติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่การเป็นนครแห่งชีวิตทีมั่งคั่งและยั่งยืน
ในการนี้ นายศักดาวุธ ศักดาวุธ ศักดิ์เศรษฐ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้สรุปเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี พ.ศ.2566-2585 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันร่างข้อเสนอจัดทำและทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับทบทวนปี พ.ศ.2568 โดยมี ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการและระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำและทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง สังคมแห่งโอกาสเป็นธรรม และการเติมโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด BCG สู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน สามารถลดจุดความร้อนลงได้ร้อยละ 5 รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวปีละ 1,000 ไร่ หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น ด้วยการแบ่งกลุ่มตามประเด็นการพัฒนา คือ ท่องเที่ยวสร้างสรรค์มูลค่าสูง ,เกษตรและอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ,เศรษฐพิจสร้างสรรค์และดิจิทัล ,การเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม
นายวีรพงศ์ ฤทธิรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการนำเสนอร่างแผนของแต่ละภาคส่วน มีความชัดเจนขึ้นทั้งต้นทาง กลาง และปลายทาง โดยเฉพาะภาคการผลิตทางด้านการเกษตรที่คำนึ่งถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทั้งนี้ได้แนะนำให้เพิ่มเติมในแผนฯ เรื่องมาตรฐานของสินค้า และยกระดับการบริการ เพื่อเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยใช้ Influencer จากต่างประเทศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และเพิ่มกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เป็นต้น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเสนอโครงการเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ จากภาคเอกชน ประชาสังคม ส่วนราชการ จะนำไปสู่การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 20 ปีต่อจากนี้ มีความชัดเจน ปฏิบัติได้จริง และครั้งนี้เป็นการทบทวนการดำเนินงานทั้งหมด 4 ช่วง ทุก 5 ปี โดยครั้งนี้เป็นช่วงแรก (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่สัมฤทธิ์ผลมากที่สุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม