จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มุ่งเน้นควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมรณรงค์ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็กและเยาวชน
วันที่บันทึก :11/08/2023
วันที่ 9 ส.ค. 66 ที่ ห้องศรีเวียงพิงค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 3/2566 เพื่อติดตามสถานการณ์การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และพิจารณาแผนบูรณาการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2566
สำหรับสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนผู้ดื่ม 15.96 ล้านคน หรือคิดเป็น 28% จากจำนวนประชากร โดยลดลงเล็กน้อยจากปี พ.ศ. 2560 จากเดิมที่ 28.41% โดยพบว่า ผู้หญิงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.6% ในปี 2560 เป็นร้อยละ 10.8 ในปี 2564 ในขณะที่ผู้ชายมีอัตราการดื่มฯ ลดลงจากร้อยละ 47.5 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 46.4 ในปี 2564 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในลำดับที่ 13 ของประเทศ และจากข้อมูลพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ปัญหาภายในครัวเรือน ปัญหาในการประกอบอาชีพ และปัญหาภายนอกครัวเรือน ตามลำดับ
ด้านสถานการณ์การสูบบุหรี่ ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย พบว่าปี พ.ศ. 2564 ทั้งประเทศมีการสูบบุหรี่ร้อยละ 17.4 จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในลำดับที่ 54 ของประเทศ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีเป้าหมายการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้น้อยกว่าร้อยละ 17 ตามเป้าหมายของประเทศ จากการสำรวจพบว่ารูปแบบการสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการสูบบุหรี่ที่ผลิตโดยเครื่องจักร ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไปเป็นหลัก รองลงมาคือ บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่แบบมวนเอง ตามลำดับ โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 78,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 7 เท่า และส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มพร้อมทั้งรณรงค์ เชิญ ชวน เชียร์ ประชาชนชาวเชียงใหม่ และหน่วยงานทุกภาคส่วนลงนาม ลด ละ เลิกเหล้าตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ให้ได้รับรู้รับทราบถึงโทษพิษภัยอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเข้มงวดมาตรการการบังคับใช้กฏหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดจำนวนของผู้สูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศต่อไป