ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ห่วงประชาชนเผชิญภัยแล้งหนัก สั่งชลประทาน และ ปภ. เร่งหาทางเติมน้ำลงเขื่อนให้ได้มากที่สุด หลังปฏิบัติการฝนหลวงจะยุติลงในสิ้นเดือนนี้
วันที่บันทึก :31/07/2023
วันที่ 28 ก.ค. 66 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยพบว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำฝน 579 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าปกติ 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในช่วงวันหยุดยาว 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม นี้ จังหวัดเชียงใหม่ จะมีฝนหนาแน่น ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปัจจุบันสะสมอยู่ที่ 173.760 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65.57 ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำสะสม 148.420 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56.43
โดยจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พบว่า ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ พื้นที่อำเภอสะเมิง และอำเภอแม่แจ่ม จะมีแนวโน้มน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และในเดือนตุลาคม จะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอจอมทอง ฮอด แม่แจ่ม และอมก๋อย ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งแผนการ กำลังพล และเครื่องสูบน้ำ ไว้พร้อมแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในห้วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” จะมีกำลังแรงขึ้น และอาจยาวนานไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยขอให้สำนักงานชลประทานที่ 1 และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมแผนรับมืออย่างรอบด้าน ทั้ง “การหาวิธีเติมน้ำลงในเขื่อน” ควบคู่ไปกับ “การบริหารน้ำอย่างปราณีต” แต่จากข้อมูลที่ทราบว่าปฏิบัติการฝนหลวงที่ขึ้นบินเหนือเขื่อนจะหยุดปฏิบัติการในสิ้นเดือนนี้ ทำให้ไม่สามารถเติมน้ำลงในเขื่อนได้ จึงได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการวิเคราะห์น้ำร่วมกับกรมชลประทาน และวิเคราะห์ฝนร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์วิกฤติในระยะต่อไป และที่สำคัญให้เร่งหาทางเติมน้ำลงในเขื่อนให้ได้มากที่สุด
เบื้องต้น ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีมาตรการรับมือ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” โดยด้านอุปทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี คือ ปี 2566-2567 และมีการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการชะลอ/กักเก็บน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ขณะที่ด้านอุปสงค์ ได้ขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรัง โดยพิจารณาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง และใช้มาตรการ 3R คือ Reduced Reused และ Recycled