สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 แถลงสรุปกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา “แอ่วเหนือ ผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า” ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์
วันที่บันทึก :27/07/2023
วันที่ 26 ก.ค. 66 ที่ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวกิจกรรม พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว
โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา “แอ่วเหนือ ผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า” โดยการจัดเส้นทางต้องเชื่อมโยงกันไม่น้อยกว่า 2 จังหวัดใน 1 เส้นทาง ประกอบการด้วย เส้นทางที่ 1 เส้นทางท่องเที่ยวแหล่งเครื่องปั้นดินเผาล้านนา เส้นทางที่ 2 เส้นทางตามรอยผ้าซิ่นตีนจกและผ้าไหมยกดอก เนื่องในวาระชาตกาล 150 ปี ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ เส้นทางที่ 3 เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย และเส้นทางที่ 4 เส้นทางท่องเที่ยว ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคเหนือ รวมถึงมีประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมล้านนา ที่มีอัตลักษณ์มีเสน่ห์ที่โดดเด่น สามารถนำมาเชื่อมโยงกันในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มล้านนาได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การดำเนินงานได้ศึกษาสำรวจ รวบรวมข้อมูล ด้านการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ พร้อมกับระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการท่องเที่ยว นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ผู้ประกอบการ ผู้แทนด้านสถาบันการศึกษา มัคคุเทศก์ สื่อมวลชน รวมถึงผู้สนใจ เพื่อจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนนา ทั้ง 4 เส้นทาง นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรม FAM TRIP ประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านรูปแบบ online และ offline อีกด้วย