หลักการและเหตุผล
บรรดาพืชพันธุ์ในธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้ กล้วยไม้นับว่าเป็นพืชที่น่าห่วงใยว่าจะสาปสูญไปเรื่อย ๆ กล้วยไม้จะขึ้นอยู่ตามสภาพนิเวศวิทยาที่จำเพาะและมีความเหมาะสม การทำลายสภาพนิเวศวิทยา ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ เผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย มีผลกระทบต่อความอยู่รอดของพันธุ์กล้วยไม้ทั้งสิ้น นอกจากนี้การนำกล้วยไม้ป่าออกมาเพื่อจำหน่ายทั้งในระดับท้องถิ่น หรือรวบรวมโดยพ่อค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นการลดปริมาณของกล้วยไม้ในธรรมชาติโดยตรง จนถึงปัจจุบันนี้การรวบรวมกล้วยไม้ป่าของไทยเพื่อส่งออกพบว่าเป็นปริมาณที่มากมายน่าตกใจ ทำให้กล้วยไม้บางชนิดที่พบอยู่ทั่วไปกลายเป็นของหายากในเมืองไทย แต่กลับไปปรากฎอยู่ในร้านขายกล้วยไม้ในต่างประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้นับได้ว่า เป็นเรื่องที่น่าสลดใจที่ลูกหลานไทยขาดจิตสำนึกของการอนุรักษ์มรดกที่มีค่านี้ไว้ให้คงอยู่ในแผ่นดินไทย ไม่ปล่อยให้มีการทำลายและขนกล้วยไม้พื้นเมืองของเราออกไปยังต่างประเทศ จนหลายชนิดได้หายสาปสูญไปจากธรรมชาติ หรือแทบจะหาดูไม่ได้อีกแล้วในเมืองไทย
การที่ต่างประเทศได้นำกล้วยไม้พันธุ์พื้นเมืองของไทยไปอย่างต่อเนื่องและยาวนานได้มีการนำไปเพาะเลี้ยง ผสมคัดเลือกพันธุ์ จนปัจจุบันบางประเทศจะพบเห็นกล้วยไม้พื้นเมืองของเรามีเลี้ยงกันดาษดื่น แต่ในสภาพนิเวศวิทยาของเรากลับหายาก ในบางแหล่งถูกเก็บไปจนไม่เหลืออยู่เลย กล้วยไม้รองเท้านารีปีกแมลงปอ รองเท้านารีสุขะกุล ที่ภูหลวง จังหวัดเลย ยังพอจะหาพบบ้างภายใต้การอนุรักษ์อย่างเข้มงวด รองเท้านารีคางกบสายพันธุ์ดอยสุเทพ หรือรองเท้านารีดอยตุง ซึ่งเพิ่งค้นพบบนดอยตุงเป็นครั้งแรกอาจถือได้ว่าหายากมาก
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าปลื้มปิติที่มีการทำลายมรดกทางธรรมชาติของเรานั้น เป็นที่ประจักษ์แก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการร่วมกันอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยซึ่งนับวันจะหาได้ยาก ให้คงสภาพอยู่ในป่าธรรมชาติ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริดังกล่าว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้ร่วมมือกับกองทัพบก กรมป่าไม้ องค์การพัฒนาเอกชนและภาคธุรกิจเอกชน จัดตั้ง “โครงการคืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อศึกษาและขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทย พร้อมทั้งนำกลับคืนสู่ป่าแหล่งกำเนิดและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539